THAI | ENG  
 
 
   
 
 
ั‘ผลไม้’ เป็นยิ่งกว่า ‘ผลไม้’

ปัจจุบัน การวิจัยพืชผักผลไม้ในเมืองไทยเรามีการทำกันอย่างจริงจัง มีการต่อยอดงานวิจัยเดิมสู่งานวิจัยใหม่อย่างหลากหลาย กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างงานสร้างอาชีพได้มากมาย ซึ่งสำหรับ “ผลไม้” นั้น กับ “มังคุด” กับงานวิจัยใหม่ ๆ ก็ยิ่งทำให้ทราบว่านี่มิใช่เพียงผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้” เท่านั้น 

ล่าสุดมีข่าวว่าทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย... รศ.ดร.วิลาวัลย์  มหาบุษราคัม ภญ.รศ.ดร.เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ภญ.รศ.ดร.อำไพ ปั้นทอง, รศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ, ผศ.ดร.ศิริวรรณ วงศ์ไชย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา นักวิจัยหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย ได้ทำวิจัยต่อยอดเชิงประยุกต์ผลการวิจัยสรรพคุณของผลไม้ รวมถึงมังคุด และธัญพืชหลายชนิด ภายใต้ ปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันสมดุล “OPERATION BIM”

BIM คือบาลานซิ่ง อิมมูน (Balancing Immune) โดยมีการวิจัยสรรพคุณของผลไม้ มังคุด และธัญพืชต่าง ๆ แล้วนำมาผสมกันเพื่อให้เกิดการเสริมประสิทธิภาพ จนได้สารอาหารที่ปลอดภัย-ไร้ผลข้างเคียง คณะนักวิจัยได้ใช้ศาสตร์ของการเสริมฤทธิ์ นำสารธรรมชาติจากผลไม้และธัญพืชหลากชนิด ผสมกับสารสกัด GM-1 สารที่มีอยู่ในผลมังคุด จนค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่ช่วยปรับภูมิคุ้มกันร่างกายให้สมดุลได้
 
ที่ทราบมาคือได้มีการพัฒนางานวิจัยนี้สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในรูปของแคปซูลสารสกัด อีกทั้งคณะนักวิจัยยังได้ใช้ความรู้จากปริมาณสารสกัดที่มีอยู่ในแคปซูลเป็น หลัก ในการผลิตน้ำมังคุดสกัดเข้มข้นที่ไม่มีการเติมสีสังเคราะห์ ไม่ใส่น้ำตาล ไม่มีสารกันบูด ไม่แต่งกลิ่นด้วยสารเคมี   ไม่มีส่วนเปลือกมังคุดซึ่งอาจปนเปื้อนยาฆ่าแมลง และไม่มีแทนนินสีน้ำตาลจากเปลือกมังคุดในปริมาณมากจนเกิดผลข้างเคียง ซึ่งก็สามารถช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สมดุลได้เช่นเดียวกับ สารสกัดสูตรที่ได้จากปฏิบัติการ  BIM
 
การที่ร่างกายปรับระดับภูมิคุ้มกันให้สมดุลอยู่ตลอดเวลานั้น เมื่อภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่ไม่น้อยเกินไป ก็ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแปลกปลอมง่าย ๆ และเมื่อภูมิคุ้มกันไม่อยู่ในระดับที่มากเกินไป ร่างกายก็จะไม่เกิดอาการผิดปกติหรือเกิดการแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งโดยสรุปแล้วการที่ร่างกายปรับระดับภูมิคุ้มกันได้สมดุล ก็จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าวนี้จึงน่าสนใจทีเดียว
 
ทั้งนี้ ข่าวคราวงานวิจัยลักษณะนี้ ในด้านหนึ่งถือเป็นชื่อเสียงความสำเร็จของนักวิจัยไทย-ประเทศไทย กับวิทยาการเชิงสุขภาพ ซึ่งจะมีการต่อยอดไปอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ในอีกด้านหนึ่งเมื่อมีข่าวปรากฏออกมา นี่ก็จะช่วยส่งเสริมให้สิ่งที่ถูกวิจัย ซึ่งในที่นี้คือ “ผลไม้” คือ “มังคุด” มีความโดดเด่นมากขึ้น และหากใครจับกระแส-จับจุดนี้ไปปรับใช้ในเชิงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มี การวิจัยได้ ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ เป็นผลดีต่อเนื่อง...
 
จาก “ผลไม้” ที่ปัจจุบันเป็นยิ่งกว่า “ผลไม้”

 

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับที่ 21,591 วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551